รายงานพิเศษ
"เพราะข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา"
คำชี้แจงของ "พิชญ์ โพธารามิก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด
ที่ตัดสินใจทิ้ง ใบอนุญาต 4 จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ หลังได้รับชัยชนะในการประมูลช่วงเช้าวันใหม่ของวันที่ 19 ธ.ค.2558
หลังจากแข่งขันเคาะราคาประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 2 ชุดคลื่นความถี่ หรือ 2 ใบอนุญาต ที่จัดโดยคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ธ.ค.2558
ซึ่งต่อสู้กันแบบมาราธอน กินเวลายาวถึง 65 ชั่วโมง 55 นาที (ไม่รวมช่วงพักการประมูล)
จนเป็นผู้ชนะในคลื่นความถี่ชุดที่ 1 บนย่านความถี่ 895-905 MHz ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท ไปแบบล็อกถล่ม และเป็นที่คาดหมายว่ากำลังจะเป็นน้องใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่จะเข้ามา เปลี่ยนโฉมวงการ
แต่สุดท้ายแจสฯ ต้องถอดใจเมื่อไม่สามารถนำเงินประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือรับรองค้ำประกันทางการเงินจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) มาชำระได้ทันวันที่ 21 มี.ค.2559
พิชญ์ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงสาเหตุที่ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 72,000 ล้านบาท มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในแจสโมบาย และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของประเทศจีน
ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยว ข้องของประเทศจีน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเม.ย.2559 ซึ่งไม่ทันกำหนดระยะเวลา 90 วันตามที่ระบุใบประกาศ กสทช. และสำนักงาน กสทช.ก็ไม่สามารถผ่อนปรนได้
ในส่วนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่แจสโมบายไม่ได้ไปจ่ายเงินเพื่อขอรับใบอนุญาตนั้น ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทให้ความเห็นว่าแจสโมบาย ต้องถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทเท่านั้น
เนื่องจากแจสโมบายไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามข้อ 5.2 ของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ และการถูกริบเงินดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบต่องบฯ การเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
แต่กสทช.โดยคณะกรรมการกทค. ลงมติในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. นอกจากให้ริบเงินหลักประกันแล้วยังแต่งตั้งคณะทำงานรวม 9 คนจากหน่วยงานสำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานกฤษฎีกา, กระทรวงการคลัง ฯลฯ เพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐ และพิจารณาในแง่กฎหมายว่าสามารถฟ้องร้องแจส โมบาย ได้หรือไม่
รวมทั้งสามารถเพิกถอนใบอนุญาตด้านอื่นๆ ที่กสทช.ได้ออกใบอนุญาตให้กับบริษัทในกลุ่มจัสมินได้หรือไม่ โดยจะรู้ผลภายใน 30 วันว่า กสทช.จะฟ้องร้องเรียกความเสียหายจากแจสฯ ได้หรือไม่ และหากได้จะมีมูลค่าเท่าไหร่
พร้อมกันนี้กสทช. เตรียมเร่งจัดประมูลใหม่ในปลายเดือนมิ.ย.นี้ พร้อมตัดสิทธิ์แจสฯไม่ให้ร่วมประมูลครั้งใหม่ ทั้งออกมาตรการป้องกันหากแจสฯ จะส่งนอมินีเข้ามาประมูล
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลใหม่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.ราคา ตั้งต้นการประมูลจะใช้ในราคาสุดท้ายที่แจส โมบายเสนอในการประมูลและชนะประมูลครั้งก่อน คือ 75,654 ล้านบาท ตามที่บอร์ด กทค.มีมติไว้ หรือให้ใช้ราคาที่ทุกบริษัทซึ่งเข้าร่วมประมูลเสนอครั้งสุดท้าย คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคา 76,298 ล้านบาท และราคาในชุด 1 ที่ 73,722 ล้านบาท ส่วนบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด มูลค่า 75,956 ล้านบาท
สุดท้ายแล้วตั้งต้นจะเป็นเท่าไหร่นั้นต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อน แต่ทั้งนี้ราคาตั้งต้นจะต้อง ไม่ต่ำกว่า 70,100 ล้านบาทที่เป็นราคาต่ำสุดที่ทางดีแทคเสนอราคาจากการประมูลครั้งก่อน
2.ปรับปรุงเรื่องการเพิ่มอัตราเงินหลักประกันก่อนการประมูลจากเดิมที่คิดในสัดส่วน 5% ของราคาตั้งต้นการประมูล เพิ่มเป็น 10-30%
และ 3.เงื่อนไขการประมูลต้องให้สอดคล้องกับประกาศการเยียวยาลูกค้าก่อนสัญญาคลื่นความถี่จะหมดลง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เชื่อว่าอย่างน้อยจะมี 2-3 รายเข้าร่วมประมูล แต่ถ้าไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งใหม่นี้จะพักการประมูลเป็นเวลา 1 ปี และจะไม่ตัดสิทธิ์บริษัททรูฯ ผู้ชนะใบอนุญาต 4 จี คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ในคลื่นชุดที่ 2 ด้วย
ด้านผู้ให้บริการอย่าง ดีแทค โดย นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แสดงความเห็นว่า ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ครั้งก่อน ไม่ควรมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลใหม่ เนื่องจากได้ครอบครองคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 1 ใบอนุญาตไปแล้ว เพื่อป้องกันการผูกขาด
นอกจากนี้ราคาขั้นต่ำของการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ชุดที่ 1 ครั้งใหม่นี้ควรกำหนดที่ราคา 16,080 ล้านบาทเท่ากับการประมูลคลื่นคราวก่อน เพราะจากการประมูล 2 ครั้งที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับว่าราคาคลื่นความถี่ทั้ง 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ที่สูงมาก มีผลกระทบต่อเนื่องต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมในระยะยาว
"ราคาการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินความคาดหมายได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและ ด้านลบ ในขณะที่ รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่นจำนวนมาก แต่ผลด้านลบกลับเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้บริโภคมีความกังวลต่อความสามารถในการให้บริการที่ต้นทุนที่สูงมาก นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น"
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เตรียมหารือบอร์ดบริษัทในเร็วๆนี้ว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์อีกหรือไม่ โดยระบุว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย แต่มั่นใจไม่กระทบภาพรวมการแข่งขันของอุตสาหกรรม และหากกทค.จะลดราคาคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ต้องลดให้ทรูด้วย
ส่วนผู้นำอย่าง "เอไอเอส" โดย นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องประชุมกับบอร์ดบริหารของบริษัทก่อนว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมประมูลครั้ง ใหม่ เอไอเอสสนใจเป็นเจ้าของคลื่นความถี่เพิ่มเติม แต่ต้องดูเงื่อนไขและดุลพินิจของบอร์ดบริษัท และรอดูความชัดเจนในเกณฑ์และกรอบเวลาในการเปิดประมูลใหม่ เสียก่อน
ปรากฏการณ์แจส โมบายไม่จ่ายค่าใบอนุญาต 4 จี ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจเอกชน หรือกระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่อาจกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ เมื่อตลาดโทรคมนาคมไทยยังผูกขาดผู้ให้บริการ 3 ค่ายเดิม ที่การแข่งขันก็จำกัดจากรายเดิมๆ ไม่ได้ต่างอะไรเหมือนอดีต ที่ผ่านมา
จากนี้คงต้องมองไปอีก 3 เดือนที่จะเปิดประมูลใหม่ ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดผู้เล่นหน้าใหม่หรือยังเป็นเวทีของ ขาใหญ่หน้าเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมาหลายสิบปี
ที่มา khaosod.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น